ในสมัยนั้นการแสดงที่คนจังหวัดตราดนิยมมากคงเป็น ลิเก เพลงพื้นบ้าน รำวง และหนังตะลุง  โดยเฉพาะหนังตะลุงจัดว่าเป็นการละเล่นที่ใช้เทคโนโลยีมากกว่าการละเล่นอื่นๆ  แสงเงาของตัวหนังที่บรรจงสร้างสรรค์เป็นรูปบุคคลในวรรณคดีที่สวยงามปรากฏบนจอผ้าสีขาว  สามารถเคลื่อนไหวตามจังหวะการร้องและทำนองเพลง  คงสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่คนที่มาชม  ทั้งการนำเนื้อเรื่องในวรรณคดีมาแสดงพร้อมสอดแทรกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง  บางครั้งนำชื่อของคนในชุมชนนั้นเข้าไปเป็นชื่อของตัวหนัง  สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและสนุกสนานให้กับคนดู  หนังตะลุงจึงเป็นที่รวมของคนสองวัย คือ วัยเด็กซึ่งอยู่ในช่วงอยากรู้อยากเห็นและวัยสูงอายุซึ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก  ส่วนวัยหนุ่มสาวนั้นคงต้องรีบใช้เวลาในค่ำคืนนั้นพบปะพูดคุย เพื่อสร้างความเชื่อมโยงจิตใจกันและกันให้มากที่สุด  เพราะพ่อแม่เปิดโอกาสให้ไม่บ่อยนัก  การนั่งดูการแสดงจึงไม่ใช้จุดประสงค์หลักสำหรับวัยหนุ่มสาว

 

       จุดเด่นจุดหนึ่งของหนังตะลุง คือการแสดงที่สามารถนำเรื่องราว เหตุการณ์ กิจกรรม ของชุมชนในขณะนั้นมาสอดแทรกเข้าไปในเรื่องราวที่กำลังแสดง โดยผ่านการกลั่นกรองปรับแต่งของนายหนังที่มีประสบการณ์และไหวพริบที่ชาญฉลาด  แตกต่างจากการแสดงลิเกซึ่งต้องดำเนินเรื่องตามโครงเรื่อง  ไม่สามารถพลิกแพลงสอดแทรกเรื่องอื่นๆ ได้     นายหนังที่มีความสามารถจึงสร้างความพึงพอใจ เรียกเสียงปรบมือโห่ร้องจากคนดูได้มาก   แม้ว่าสายตาคนชมจะนั่งดูเงาสีดำๆที่เคลื่อนไหวไปมาได้เพียงไม่กี่ท่าทาง   แต่เสียงเจรจาที่กลั่นกรองโดยนายหนังและส่งผ่านอากาศมาเข้าโสตประสาทของคนดูนั้น  สร้างอรรถรสและความเพลินเพลินได้เหนือคำบรรยาย 

 

          นายหนังที่มีประสบการณ์มักสอดแทรกเนื้อหาคำสอนทางศาสนาศีลธรรมจรรยา ลงในเนื้อเรื่องด้วย เช่น ให้ทำความดี ความชั่วลดละเลิกอาจยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างถิ่นหรือเกิดขึ้นนานแล้วมาเป็นคติสอนใจให้ คนดูนำไปปฏิบัติ   นายหนังโสน  นุดสมบัติ  กล่าวว่า “การสอดแทรกต้องมีบ้าง ทำความดี ไม่ทำความชั่ว ผลสุดท้ายต้องลบล้างความชั่วให้ความดีเด่นขึ้นมา  พอความดีเริ่มชัดแสดงว่าจะหมดเวลาเล่นแล้ว เที่ยงคืนแล้ว    สุดท้ายบรรยาย(สรุป)หน่อยว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างนี้ เขาว่าดูหนังต้องดูเรื่องนะ จอของฉันจะใช้แนวนี้  ไม่ใช่สนุกอย่างเดียว”แต่ใช่ว่าคณะหนังตะลุงทุกคณะจะทำได้ดีเหมือนกันเพราะการสอดแทรกเรื่องราวทางศาสนาและศีลธรรมจรรยา นั้นทำได้ไม่ง่ายเหมือนสอดแทรกเรื่องตลก  อีกประการหนึ่งนายหนังตะลุงก็คือประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง  ดังนั้นนายหนังตะลุงที่มีความประพฤติดีคนในชุมชนให้ความเคารพมักได้รับการตอบสนองจากคนดูมาก  เมื่อใดที่สอดแทรกเรื่องราวที่ดีงามคนดูส่วนใหญ่จะยอมรับและนำไปปฏิบัติ 

 

          นายหนังโสน  นุดสมบัติ  กล่าวว่า “หนังตะลุงที่ประสบความสำเร็จเกิดจากนายหนังเก่ง พูดจริงทำจริงไม่เหลวไหล  เวลาต้องเป็นเวลา   ไม่เมา  ถ้ากินเหล้าเละทุกโรง ต้องเล่นเก่งร้องเก่งความประพฤติดี ชื่อสัตย์ตรงเวลา รับงานแล้วต้องไป  ไกลแค่ไหนก็ต้องไป อย่างนี้แหละสำคัญ จึงจะอยู่ได้นาน”

 

        หลายครั้งที่ผู้ใหญ่กำนันในชุมชนนั้นต้องการเชิญชวน บอกบุญ หรือโน้มน้าวคนในชุมชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง   จะให้นายหนังตะลุงสอดแทรกเรื่องราวดังกล่าวลงในการแสดงด้วย  ซึ่งได้ผลตอบรับในทางดีเสมอ นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน  ให้ความเห็นว่า “หนังตะลุงไม่เหมือนการแสดงประเภทอื่น  ต้องคิดว่าศาสนาสร้างศิลปะการแสดงหนังตะลุง  เป็นการนำคำสอนศาสนาไปสู่ประชาชน สอนศีลธรรมสังคม เพราะสมัยก่อนไม่มีสื่ออะไรเลย    สมัยก่อนนายหนังตะลุงยังเป็นหมอรักษา หมอดู ดูดวง วันดี ฤกษ์ดี เพราะชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่อง   สำคัญคือยา ยาซางเด็ก และยาเลือดสำหรับผู้ใหญ่   สมัยก่อนเขาไม่กล้าไปหาหมอหรือมีหมอไม่มาก การเดินทางไม่สะดวก  ที่เจอบ่อยคือคนเดินมาดูหนังตะลุงถูกงูกัด สมัยก่อนไม่มีถนนไม่มีรถ  พอรู้เราก็ลงไปรักษาให้เขา     บางคนถูกคุณไสยเราก็แก้ให้เขา นายหลังตะลุงสมัยก่อนต้องทำหลายๆอย่าง  ทำให้หนังตะลุงภาคใต้อยู่ได้นาน”

 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี