การให้ความเคารพครู

 

       สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานอ้างอิงถึงความเป็นมาของหนังตะลุงแต่ละคณะได้  ก็คือคำไหว้ครูที่มักกล่าวชื่อครูบาอาจารย์รุ่นต่างๆซึ่งสืบทอดการแสดงหนังตะลุงคณะนั้นๆต่อเนื่องกันมา    ซึ่งนายหนังตะลุงแต่ละคณะจะกำชับให้นายหนังรุ่นต่อๆ มาต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  มิฉะนั้นจะถือว่าไม่เคารพ เป็นการกระทำที่ร้ายแรง  เรียกกันว่า “ผิดครู”

 

       เมื่อวิเคราะห์คำไหว้ครูของนายหนังอำไพ สายสังข์  ซึ่งกล่าวชื่อครูทั้งหมด 7 คน คือ  ครูพ่วง  ครูปู้  ครูเปี๊ยก ครูเอียด ครูใหญ่ ครูชิด ครูเฉื่อย   ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าแนวการแสดงหรือรูปแบบการแสดงของคณะหนังตะลุงของนายหนังอำไพ สายสังข์  คงสืบทอดมาหลายร้อยปี

 

       ส่วนนายหนังโสน นุดสมบัติ  กล่าวว่า “ตอนไหว้ครูฉันว่าเป็นโคลงกล่าวถึง ครูเอียด ครูมั่น ครูสรวง ครูเอี๋ยว ครูฉลวย ครูสอน(หมายถึงครูทั่วไปที่มีส่วนช่วยสอนเรา)  ไปแสดงที่ไหนต้องบอกครู 5 คนนี้” 

 

กฎข้อบังคับของการแสดง

 

       คณะหนังตะลุงจังหวัดตราดแต่ละคณะจะมีข้อบังคับแตกต่างกันขึ้นกับนายหนังของแต่ละคระกำหนด   บางคณะเข้มงวดไม่ให้ดื่มสุราขณะแสดงขณะที่บางคณะไม่ห้ามดื่นสุราขณะแสดง บางคณะห้ามผู้หญิงร่วมคณะหรือขึ้นเวทีแสดงแต่บางคณะไม่ห้าม แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือตัวหนังตะลุงเป็นของสูงต้องเคารพกราบไหว้ ห้ามลบหลู่ ห้ามเดินข้ามกระโดดข้ามเด็ดขาด  หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่า”ผิดครู”   คนนั้นจะถูกวิญญาณครูลงโทษ ซึ่งบางคนอาจเสียชีวิต

 

นายหนังอำไพ สายสังข์  กล่าวว่า
          “ข้อปฏิบัติและข้อบังคับในการเล่นหนังตะลุงของแต่ละคณะจะแตกต่างกัน  บางคณะกินเหล้าขณะเล่นได้  บางคณะห้ามกินเหล้าขณะเล่น  สำหรับคณะของผมไหว้ครูแล้วกินเหล้าได้  แต่ต้องไปกินกันที่อื่น  อย่าเอามาตั้งกินขณะแสดง  ผมห้าม เห็นคนไหนไม่ดีผมเอาออก  เลือกเอาคนดีๆ คนรับผิดชอบไม่กินเหล้าเมายา   บางคณะกินเหล้าจึงเล่นได้  ไม่กินเหล้าเล่นไม่ออก  แต่ผมไม่เอาแบบนั้น   ให้เล่นออกมาจากใจจริง    สำหรับผู้หญิงถ้าจะเล่นหนังตะลุงก็เล่นได้ ผมไม่ห้าม ผมให้โอกาส ปัญหาคือไม่มีผู้หญิงมาหัดเล่น    ถ้าบทร้องบทเล่นตอนไหนมีตัวนางหรือผู้หญิง ผมจะ ไม่ดัดเสียงเป็นผู้หญิงเหมือนบางคณะ”

 

       พบว่าหนังตะลุงจังหวัดตราดเกือบทุกคณะ ผู้เชิดและผู้ร้องเป็นผู้ชายเกือบทั้งสิ้น ถ้ามีผู้หญิงร่วมคณะมักเล่นเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ขลุ่ย หรือเล่นเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ตีกลองโทน หรือตีฉิ่ง หนังตะลุงจังหวัดตราดนิยมแสดงในต่างๆ เช่น งานบำเพ็ญกุศลศพ งานแก้บน งานไหว้เจ้า งานทำบุญประจำปี งานทำบุญท่าน้ำ งานทำบุญทุ่ง ฯลฯ    ส่วนงานมงคลโดยเฉพาะงานแต่งงานจะห้ามไม่ให้มีการแสดงหนังตะลุง  ด้วยมีความเชื่อว่าเรื่องที่หนังตะลุงต้องแสดงตามธรรมเนียมทุกครั้งคือเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีเนื้อเรื่องเป็นความพลัดพรากระหว่างสามีภรรยา คือ พระรามกับนางสีดาเกือบทั้งเรื่อง และเป็นการทำสงครามรบพุ่ง ฆ่าฟัน จึงไม่เหมาะสำหรับงานแต่งงานอย่างยิ่ง 
สำหรับหนังตะลุงใต้มีความเชื่อเกี่ยวกับการแสดงดังนี้(สุชาติ ทรัพย์สิน, 2552; เฉลียว ด้วงสิน, 2552)

  1. งานพิธีมงคลสมรสจะแสดงกี่คืนก็ได้ แต่คืนทำพิธีมอบสาดเรียงหมอน(คืนส่งตัว)ห้ามแสดง(เรียกว่าหลวงบ่อ) หนังตะลุงคณะใดแสดงคืนนี้มีความเชื่อว่าอุบาทว์แก้ไม่หาย  เพราะเป็นคืนที่เจ้าบ่าวและสาวกำลังมีความสัมพัทธ์กัน  ถ้าต้องการเล่นให้นำตัวเจ้าบ่าวมาไว้บนโรงหนังตะลุงตลอดการแสดง
  2. งานศพแสดงได้ แต่วันที่ห้ามแสดงคือวันเผาศพ   กล่าวคือ เผาศพวันไหนค่ำคืนนั้นต้องไม่แสดงหนังตะลุงคืนนั้น  เพราะการเผาศพของชาวใต้นั้นเช้าวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีดับธาตุ(เก็บกระดู) หนังตะลุงที่แสดงวันเผาศพก็จะถูกดับธาตุไปด้วยในวันรุ่งขึ้น หนังตะลุงคณะใดแสดงในวันเผาศพจะไม่มีความเจริญหรืออาจมีการเป็นไป ทำให้ต้องเลิกแสดงหนังตะลุงไปตลอดชีวิต

 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี