ด้วยความนิยมของคนจังหวัดตราดและมีคณะหนังตะลุงจำนวนมากในสมัยนั้น  บ่อยครั้งที่เจ้าภาพหาหนังตะลุง 2 คณะมาแสดงพร้อมกันเรียกว่า“ประชัน”    โดยสร้างเวทีให้หลังเวทีใกล้กันหรือหันหลังชนกัน   คณะไหนมีคนดูมากกว่าจะถือว่าชนะการประชันการแสดงประชันแต่ละครั้งนายหนังต้องเตรียมการมากเป็นพิเศษ  ทั้งคณะแสดง อุปกรณ์การแสดง  เรื่องที่จะเล่นต้องสนุก คนดูชอบ บทร้องคนร้องต้องไพเราะ  ด้นกลอนได้ไหลรื่นไม่ติดขัดคล้องจองน่าฟัง การประชันนิยมประชันครั้งละ 2 คณะ และควรมีความสามารถการแสดงใกล้เคียงกันการประชันจะทำให้คณะหนังตะลุงที่ชนะมีชื่อเสียงทำให้ค่าจ้าง แสดงสูงขึ้น และที่ขาดไม่ได้ก็คือการนำไสยศาสตร์เข้ามาช่วย  ซึ่งมีทั้งนำไสยศาสตร์มากลั่นแกล้งคณะหนังตะลุงที่แสดงตรงข้าม  และป้องกันไม่ให้คณะหนังตะลุงตรงข้ามกลั่นแกล้ง   รูปแบบการใช้ไสยศาสตร์มีหลากหลาย จุดมุ่งหมายคือให้คณะหนังตะลุงตรงข้ามเล่นไม่ได้ ร้องไม่ได้หรือร้องไม่มีเสียง หรือเพื่อโน้มน้าวจิตใจคนดูให้มาดูคณะของตนเอง

 

       ผู้ร่วมคณะแสดงท่านหนึ่งของคณะนายหนัง อำไพ สายสังข์   เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ทำรูกลมๆ ที่ต้นกล้วยหน้าเวที เอาไบพลูมาอุดในรู กลั้นใจเอาตัวหนังฤษีเสียบพร้อมพูดชื่อคณะหนังตะลุงตรงข้าม รับรอง มันร้องไม่ออก”   
สำหรับภาคใต้การประชันถือว่าเป็นสุดยอดของการแสดง  บางครั้งประชันกันหลายครั้ง หลายรอบ เลือกเฟ้นจนถึงรอบชิงชนะเลิศการประชันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชาวภาคใต้ชอบดูหนังตะลุงและได้รับความนิยมตลอดมา    ช่วงก่อนปี พศ. 2500 การประชันในภาคใต้สมัยนั้นนำไสยศาสตร์เข้ามาช่วย  มีทั้งทำให้ฝ่ายตรงข้ามมืด คิดไม่ออก ร้องไม่ออก  หรือทำให้ไส้ตะเกียงเจ้าพายุของฝ่ายตรงข้ามขาด ก็เคยมีปรากฏให้เห็นนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน  เล่าเรื่องประสบการณ์เกี่ยวกับไสยศาสตร์ในขณะประชัน ดังนี้
          “ ผมไปเล่นประชันที่พัทลุง  อยู่ดีๆไส้ตะเกียงขาด รู้ทันทีว่าเขาเล่นงานเราแน่   เปลี่ยนไส้ใหม่เล่นต่อ  ขาดอีก  เป็นอย่างนี้ 5-6 ครั้ง  สุดท้ายผมต้องแก้  หลังจากเล่นต่อไปได้ไม่มีไร”

 

          ปัจจุบันการประชันหนังตะลุงภาคใต้มีให้ชมเสมอๆ  และที่ชื่นชมก็คือแพ้ชนะจะไม่ผูกใจเจ็บกันและกัน   แต่กลับไปฝึกซ้อมมาแข่งกันใหม่  บางคณะผลัดกันแพ้พลัดกันชนะก็มี

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี