เนื่องจากการละเล่นพื้นบ้านหนังตะลุงจังหวัดตราด   นายหนังนิยมแต่งบทร้องหรือกลอนร้องทันทีในขณะเล่น ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ร้องด้น” หรือ “ร้องสด” ดังนั้นนายหนังจึงต้องมีความสามารถด้านการแต่งกลอนสดและการแสดงนายหนังอำไพ สายสังข์  กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่สามารถฝึกหนังตะลุงได้  ดังนี้ 

      “ ต้องฉลาด ไหวพริบ รู้ราชาศัพท์  เช่น ไปเที่ยวลงนาวาถ้าลงกลอนลา  ก็ต้องร้องให้ลงกลอนลาตลอด   ต้องมีไหวพริบปฏิภาณ พื้นฐานภาษาต้องดี”   นายหนังโสน นุดสมบัติ  กล่าวว่า
     “คนเล่นหนังตะลุงได้จะต้องมีเชาวน์ อาจต้องดูสายเลือดก๋งเขาเตี่ยเขาด้วยว่ามีความฉลาดไหม ต้องรู้ราชาศัพท์พอสมควรไม่มากก็น้อย พื้นฐานการแสดงก็ต้องมีมาบ้าง” 

 

 

       นายหนังแต่ละท่านมีรูปแบบและวิธีการฝึกแตกต่างกัน สำหรับนายหนังอำไพ สายสังข์ จะใช้บ้านตัวเองเป็นสถานที่ฝึกสอน โดยให้ฝึกตีกลองโทนก่อนเพื่อให้รู้จังหวะ  เมื่อตีได้ดีถูกจังหวะต่อไปจะให้ฝึกจับตัวหนังเชิดพร้อมกับฝึกร้องพร้อมๆ กัน   การร้องต้องได้สำเนียงได้จังหวะ ร้องแบบตัวต่อตัวคล้ายลิเก  พร้อมออกท่าทางให้สอดคล้องกับบทร้อง ช่วงแรกนายหนังอำไพจะมีกลอนร้องให้ผู้ฝึกนำไปท่องจำเมื่อคิดว่าตัวเองทำ ได้คล่องให้มาร้องและเชิดให้ดูจนนายหนังอำไพพอใจ ซึ่งใช้เวลาเร็วหรือช้าขึ้นกับความสามารถหรือพรสวรรค์ของผู้ฝึกแต่ละคน    จากนั้นนายหนังอำไพจะนำตอนใดตอนหนึ่งของเรื่องที่จะแสดง ให้ผู้ฝึกกลับไปคิดสร้างกลอนร้องและเชิดด้วยตนเอง  แล้วมาร้องและเชิดให้นายหนังอำไพดู  ฝึกลักษณะเช่นนี้หลายครั้งจนนายหนังอำไพเห็นว่าสามารถออกงานแสดงได้  จึงจะอนุญาตให้ออกแสดง 

 

       นายหนังโสน นุดสมบัติ  กล่าวถึงการฝึกลูกศิษย์ของตนเอง ว่า

“หนังตะลุงตราดสมัยก่อนฝึกกันสองแบบ แบบแรกฝึกหัดกันเอง อีกแบบไปฝึกหัดจากครู  การฝึกเอากันจริงๆเลย ขึงจอ มีโทนกลองครบ ให้ลองจับตัวหนังลองร้องลองเต้นหัดร้องหัดพูด ที่ฝึกกันจะใช้เวลาช่วงพรรษาหน้าฝนหลังทำนาทำสวน กว่าจะเล่นได้ใช้เวลาพอสมควร บางคนเล่นได้บางคนเล่นไม่ได้ โดยมากจะไม่ค่อยได้  ถ้าเล่นไม่ได้ต้องฝึกต่อไปอีกแล้วแต่คน หัวไวหน่อยก็ได้เร็ว ฉันฝึกมาสิบกว่าคนที่เล่นได้มี 3 คนนอกนั้นเล่นไม่ได้ คนไหนเล่นไม่ได้ก็ออกไป คนที่ยังชอบยังพยายามก็อยู่กันต่อไป ถ้าแกร้องไม่ได้เล่นไม่ได้ก็ให้ตีโทนตีกลอง ถ้าตีได้ก็ไปเล่นด้วยกันได้ ถ้ายังตีไม่ได้อีกก็ต้องออกไป ฝึกอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องมอบ(ครอบ)ครู  เอาคนที่มีอาชีพหนังตะลุงที่เขายินดีจะเป็นครูเรามาทำพิธีมอบครูให้เรา จากนั้นเราถือว่าเขาเป็นอาจารย์ของเรา สำหรับตัวฉันขอติดคณะหนังตะลุงเขาไปแสดง ช่วยตีโทนตีฉิ่งตีกลอง ค่อยๆสังเกตเรียนรู้จนฉันเล่นเป็น”   

 

       ด้วยวิธีการตามที่กล่าวมา  ผู้เชิดและร้องหนังตะลุงจังหวัดตราดจึงต้องมีความสามารถและพรสวรรค์    นายหนังคนใดมีความสามารถทั้งการร้องและเชิดจะได้รับความนิยมสูง  จะเป็นคณะที่มีชื่อเสียง 
นอกจากจะฝึกหัดกับครูแล้วบางรายใช้การจดจำและฝึกฝนด้วยตนเอง เช่นกรณีนายฉะอ้อน นุดสมบัติ  นายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง  กล่าวถึงการฝึกหัดของตนเองว่า

 

       “ฉันหัดเอง มาคิดตอนนี้เหมือนเป็นคนบ้า ตอนนั้นฉันอายุ 14 ปี ใจฉันมันชอบ ฉันอยากรู้ว่าเขาเล่นอย่างไร ทำอย่างไร เงามาอย่างไร  สมัยนั้นเขาปิดหลังโรงไม่ให้ใครขึ้นไม่ให้ใครเห็น กั้นหมด เปิดช่องเล็กๆ สำหรับขึ้นลง โรงก็สูงมากเหนือหัวยังจับไม่ถึง  ฉันพยายามแอบมอง  เห็นวับๆแวบๆ กลับมาทำตัวหนังเอง   หัดเล่นใต้ถุนบ้าน  เอาตะเกียงแขวน  พอหัดไปๆคนเดียวเล่นไม่ได้ต้องไปหาพวกมาเล่นอีกคนรวมเป็น 2 คน สองคนช่วยกันทำโทน ไปหาต้นหมากต้นไหนแก่นๆขโมยตัดเลย ตัดติดดินมันจะได้มีหัว เอาสิ่วเจาะเนื้อออก  เอาหนังกะจงมาทำหนังกลอง สมัยนั้นกะจงมันเยอะ

 

        การคัดเลือกศิษย์เพื่อสืบทอดไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรหลานหรือญาติของตนเอง ใครที่นายหนังเห็นว่ามีความสามารถมีแวว(พรสวรรค์)จะเลือกคนนั้น ขณะที่คนในสมัยนั้นหลายคนใฝ่ฝันจะเป็นผู้แสดงหนังตะลุงหรือนายหนังตะลุง เพราะใช้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในหมู่บ้านตนเองและต่างท้องถิ่น ได้เดินทางไปแสดงยังสถานที่ไกลๆ เสมอ

 

       กรณีนี้นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ให้ความเห็นว่า “วิธีการฝึกของจังหวัดตราดและภาคใต้คล้ายกัน สำหรับภาคใต้ผู้อยากเป็นหนังต้องนำดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู ไปฝากตัวขอเป็นศิษย์กับนายหนังตะลุงที่ตนชอบแนวทางการแสดง  จากนั้นจะทดสอบก่อนว่าจะฝึกหัดได้หรือไม่ การทดสอบมักจะให้ร้องเพื่อฟังน้ำเสียงซึ่งสำคัญมาก จากนั้นทดสอบเชาวน์ปัญหา สองอย่างนี้ถือว่าสำคัญ ถ้าไม่ผ่านการทดสอบทั้งสองอย่างอาจไม่รับ   เมื่อรับเป็นศิษย์แล้วมักจะให้อยู่บ้านนายหนัง      กินนอนบ้านอาจารย์ช่วยทำงานพร้อมสอนวิชาให้ด้วย ไปแสดงที่ไหนไปด้วย เมื่อเห็นว่าพอจะเล่นได้จะให้เล่นเป็นบางช่วงบางตอน การฝึกต้องใช้เวลาหลายปี บางคน 5-6 ปีก็มี หลักสำคัญของการฝึกคือฝึกใช้เสียงให้เข้ากับบทบาท เช่น เสียงผู้ชาย เสียงผู้หญิง เสียงนก เสียงยักษ์ ตัวตลก ฝึกการร้องบทรัก บทโศก บทยักษ์ เป็นต้น  ฝึกการเชิดรูปเพราะหนังแต่ละตัวเชิดไม่เหมือนกัน เชิดตัวยักษ์ ผู้ชาย ผู้หญิง สัตว์ เป็นต้น   ฝึกตัวตลกเพราะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนดูไม่ง่วง จนครูเห็นว่าใช้ได้จะทำพิธีครอบมือให้เพื่อเป็นหนังตะลุงที่สมบูรณ์ซึ่งสำคัญมาก  นายหนังคนใดไม่ผ่านการครอบมือจะไม่สามารถแสดงในงานแก้บนได้”

 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี