หนังตะลุงพื้นบ้านจังหวัดตราดแต่ละคณะ มีลำดับขั้นตอนการแสดงคล้ายคลึงกัน ดังนี้

 

1. การทำน้ำมนต์ธรณีสาร

       ในการแสดงทุกครั้งและก่อนทำพิธีกรรมใดจะต้องทำน้ำมนต์เรียกกันในหมู่คณะหนังตะลุงว่า  “น้ำมนต์ธรณีสาร”  โดยสมาชิกในคณะหนังตะลุงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำก็ได้ แต่มักเลือกนายหนังหรือสมาชิกในคณะที่มีอาวุโสอายุสูงสุด อุปกรณ์ประกอบด้วยขันน้ำใส่น้ำใสสะอาดประมาณ ¾ ของขัน   พานใส่หมากพลู 3-5 คำ ดอกไม้ทุกชนิดยกเว้นดอกเข็มและดอกลั่นทม  เหล้า 1 ขวด ธูป 9 ดอก  เทียน 1 เล่ม บุหรี่ 1 ซองหรือ 3 มวน  และเงิน 12 บาท   

 

 

       เริ่มด้วยกล่าวนโม 3 จบ   จากนั้นกล่าวคาถาชุมนุมเทวดาและกล่าวธรณีสารเล็ก(สีโรเมฯ)พร้อมๆ กับวนเทียนเหนือระดับน้ำในขันจากซ้ายไปขวา  ให้น้ำตาเทียนหยดลง คณะหนังตะลุงจะนำน้ำมนต์นี้ประพรมนักแสดงและตัวหนังตะลุง เพราะมีความเชื่อว่าตัวหนังตะลุงทำด้วยหนังของสัตว์มีชีวิต เช่น หนังวัว หนังควาย โดยเฉพาะตัวฤษีที่ทำด้วยหนังหน้าผากเสือซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย นอกจากนี้ยังอาจมีสิ่งของทางไสยศาสตร์ซุกซ่อนในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น มีกระดูกซ่อนไว้ในกลองตุ๊ก   ดังนั้นอาจไม่เป็นมงคลและอาจนำสิ่งไม่ดีมาให้ผู้แสดง จึงเชื่อว่าน้ำมนต์ธรณีสารสามารถช่วยปกป้องคุ้มครองผู้แสดงจากสิ่งไม่เป็นมงคลเหล่านี้ได้ 

 

2. การไหว้ครู

       นายหนังจะทำหน้าที่ไหว้ครู  ขณะทำพิธีคณะนักแสดงทุกคนจะนั่งล้อมเป็นวง   เครื่องไหว้ครูแต่ละคณะจะแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เหล้า 1 ขวด   เงิน(แต่ละคณะไม่เท่ากัน)   ธูปและเทียน
       เริ่มพิธีนายหนังจุดธูปเทียนแล้วกล่าวคำไหว้ครู   ซึ่งคำไหว้ครูจะแตกต่างกันตามคณะหนังตะลุงแต่ละคณะ   สำหรับคำไหว้ครูของคณะนายอำไพ สายสังข์   มีคำไหว้ครูดังนี้
นะโม 3 จบ “พุทธัง อาราททะนานัง  ธัมมังอาราททะนานัง  สังฆังอาราททะนานัง  ข้าพเจ้าขออาราธนาครูบาอาจารย์ ครูพักลักจำ ครูแนะ ครูนำ ครูสั่ง ครูสอน ครูเทพกุญชร ครูมหาละลวย ครูพ่วง ครูปู้ ครูเปี๊ยก  ครูเอียด ครูใหญ่ ครูชิด ครูเฉื่อย  ขอจงมารับเครื่องกำนลที่ข้าพเจ้าได้ตั้งไว้ให้อิ่มหนำสำราญ”   
จากนั้นให้เวลาผ่านไปประมาณ 10-20 นาที  ด้วยความเชื่อว่าเพื่อให้เวลาวิญญาณครูกินเครื่องไหว้     จากนั้นกล่าวคำลา  ดังนี้ “ครูบาอาจารย์ทุกท่านกินอิ่มหนำสำราญ เหลือเป็นทานให้ลูกหลายกินเถอะ  ลูกหลานจะเล่นเพลงใดก็ขอให้คล่องสมใจปองปรารถนา  ประสิทธิ เม” เป็นเสร็จพิธีไหว้ครู   ส่วนเครื่องกำนล(เครื่องไหว้ครู) เช่นเหล้า  คณะหนังตะลุงจะนำมาดื่มนิดหน่อย   ที่เหลือจะให้คนอื่นๆ นำไปดื่มต่อ 

 

เมื่อเสร็จสิ้นจากการไหว้ครู  นายหนังจะนำปลายไม้ตีกลองตุ๊กมาขีดเป็นอักขระขอมบนหน้ากลองตุ๊ก  เรียกพิธีนี้ว่า“การเจิมหน้ากลอง” เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่นักดนตรี  เหตุที่เลือกกลองตุ๊กเพราะเชื่อว่า  เสียงกลองตุ๊กได้ยินไกลมากๆ  สามารถโน้มน้าวคนที่ได้ยินเสียงให้เดินมาชมการแสดงหนังตะลุงได้ 

 

หนังตะลุงตราดมีความเชื่อว่ากลองตุ๊กเป็นสิ่งสำคัญ   เพราะโบราณไม่มีเทคโนโลยีช่วย จะมีเพียงเสียงกลองตุ๊กเท่านั้นที่ไประยะไกล  สามารถโน้มน้าวคนฟังให้เดินทางมาชมการแสดงได้  ดังนั้นจึงนำไสยศาสตร์มาใช้โดยนำกระดูกคนตายลงอาคมใส่ลงไปในกลองตุ๊ก  เสมือนสร้างพลังเสียงของกลองตุ๊กให้แรงกล้ายิ่งขึ้น

 

3. โหมโรงและการแสดงเปิดโรง

       หนังตะลุงจังหวัดตราดจะเริ่มเล่นเวลาประมาณ 20.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลาประมาณ 24.00 น.    โดยเวลาประมาณ 19.30 น. เครื่องดนตรีและเครื่องประกอบจังหวะจะเล่นเพลงโหมโรง  เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ชมทราบว่าการแสดงจะเริ่ม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้แสดงด้วย   สำหรับคณะของนายหนังอำไพ สายสังข์  จะมีเพลงโหมโรงทั้งหมด 12 เพลง  เริ่มโหมโรงด้วยรัวกลองตุ๊ก 3 พร้อมประพนมน้ำมนต์ธรณีสารที่ทำไว้แก่ตัวหนังตะลุงและผู้แสดงทุกคน  นักดนตรีจะบรรเลงเพลงโหมโรงซึ่งแต่ละเพลงเป็นเพลงไทยเดิมอัตรา 2 ชั้นบรรเลงต่อเนื่องพร้อมเปลี่ยนจังหวะโทนกลองไปเรื่อยๆจนครบ  12 เพลง   
จากนั้นจะเริ่มการแสดงโดยการแสดงชุดแรกเป็นชุดที่ต้องแสดงทุกครั้งเรียกว่าการแสดง“เบิกโรง” หรือ “เปิดโรง” หรือ “เบิกหน้าพระ”   ตัวหนังตะลุงที่แสดงในชุดนี้ประกอบด้วย ตัวหนังพระฤษีปักไว้กลางจอ  ตัวหนังพระรามหรือพระนารายณ์ปักทางซ้ายของตัวหนังพระฤษี(ขวามือของคนดู)  ตัวหนังยักษ์จัตุรพักต์ปักทางด้านขวาของหนังพระฤษี(ซ้ายมือของคนดู)

 

 

4. จับลิงหัวค่ำ

       การแสดงจับลิงหัวค่ำจะแสดงเฉพาะคืนแรก หมายความว่าถ้าการแสดงครั้งไหนแสดงหลายคืนจะแสดงจับลิงหัวค่ำเฉพาะคืนแรกเท่านั้น  หรือถ้าขึงจอใหม่ต้องแสดงจับลิงหัวค่ำทุกครั้ง  ลักษณะการแสดงจะมีพระฤษีซึ่งมีลิงขาวและลิงดำเป็นลูกศิษย์  ทั้งสองจะทะเลาะกันเสมอและจบลงโดยลิงขาวเป็นผู้ชนะทุกครั้ง อุบายที่สื่อต่อคนดูหนังตะลุงก็คือไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ใดต้องรักสามัคคีกัน

 

5. การแสดงเรื่อง
       หลังการแสดงจับลิงหัวค่ำสิ้นสุดลง จะมีตัวหนังตะลุงซึ่งนิยมเรียกว่า“ตัวเสนา” ประมาณ 2-3 ตัว ตั้งชื่อแตกต่างกันตามหนังตะลุงแต่ละคณะหรือแต่ละท้องถิ่นออกมาสนทนากันเพื่อบอกเหตุผล และที่มาของการแสดงหนังตะลุงในคืนนี้ เช่น ใครเป็นเจ้าภาพ จะแสดงเรื่องอะไร หากเป็นวรรณคดีจะระบุตอนที่จะแสดงด้วย 
จากนั้นจะเริ่มการแสดงตามเนื้อเรื่องที่กำหนดไว้จนเกือบถึงเวลา 24.00 น   จะเข้าสู่การแสดงลาโรงโดยมีตัวหนังที่เรียกว่า“พระอินทร์” ออกมาร้องอวยพรให้เจ้าภาพประสบความสุข สวัสดีมีชัย   และเลิกการแสดงเวลาประมาณ 24.00 น.

 

6. ออกฤๅษี หรือ ชักฤๅษี  

       เชื่อกันว่าฤๅษีเป็นตัวหนังงตะลุงที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องปัดเสนียดจัญไรและภยันตรายทั้งปวง ทั้งช่วยดลบันดาลให้หนังตะลุงแสดงได้ดีเป็นที่ชื่นชมของคนดู  รูปตัวหนังฤๅษีจะออกแสดงครั้งเดียว

 

7. ออกรูปพระอิศวรหรือพระอิศวรทรงโค

       รูปพระอิศวรของหนังตะลุงถือเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์อีกรูปหนึ่ง และเป็นเทพเจ้าแห่งความบันเทิง ทรงโคอุสุภราชหรือนนทิ หนังตะลุงเรียกรูปพระอิศวรว่ารูปพระโคหรือรูปโค หนังคณะใดสามารถเลือกหนังวัวที่มีเท้าทั้ง 4 สีขาว  โหนกสีขาว  หน้าผากรูปใบโพธิ์สีขาว ขนหางสีขาว วัวประเภทนี้หายากมากถือเป็นมิ่งมงคล   ตำราภาคใต้เรียกว่า“ตีนด่าง หางดอก หนอกพาดผ้า หน้าใบโพธิ์" ปกติโคอุสุภราชมีสีเผือกแต่ช่างแกะจะแกะรูปให้วัวเป็นสีดำนิลเพื่อเจาะจงให้สีตัดกับสีรูปพระอิศวร   ตามลัทธิพราหมณ์พระอิศวรมี 4 พระกร ถือตรีศูล ธนู คฑา และ บาศ    แต่พระอิศวรรูปหนังตะลุงมีเพียง 2 กร กรหนึ่งจักรอีกกรหนึ่งถือพระขรรค์  เพื่อให้รูปกะทัดรัดสวยงาม 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี