ความนิยมดูหนังตะลุงของคนจังหวัดตราดในสมัยนั้นสูงมาก เกือบทุกงานยกเว้นงานแต่งงานต้องมีหนังตะลุงเป็นมหรสพอยู่ด้วยเสมอ บางครั้งแสดงประชันกัน  ประกอบกับการเดินทางในสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก การเดินทางไปแสดงยังต่างท้องถิ่นไกลๆคณะหนังตะลุงจึงมักไม่ไป จึงมีคณะหนังตะลุงประจำแต่ละตำบลแต่ละหมู่บ้านในสมัยนั้น 

 

       นายหนังอำไพ สายสังข์ เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า “สมัยนั้นหนังตะลุงตราดมีมาก แต่ละตำบลต้องมีอย่างน้อย 1 โรง มีกันทั่วไปหมด  สาเหตุหนึ่งก็คือ  สมัยก่อนมีเฉพาะลิเกและหนังตะลุง ละครก็เป็นอะไรที่ใหญ่และยุ่งยากหาคนแสดงยาก  แต่หนังตะลุงใช้คนเล่นไม่มากทำไม่กี่ตัวก็ได้ เพียง 2-3 คนก็เล่นได้ ใครมีความรู้วาดรูปได้ปรุตัวหนังได้ก็มีหนังตะลุง  สมัยก่อนงานไหนมีหนังตะลุงแสดงว่ามีสตางค์ เท่าที่จำได้จ้างคืนละ 20 บาท สมัยนั้นทองราคาไม่ถึง 200 บาท  เด็กและคนแก่ชอบหนังตะลุง หนุ่มมักพาสาวไปดูลิเก”

 

       นายหนังโสน นุดสมบัติ   กล่าวว่า “สมัยก่อนมีงานมาก เอาเป็นว่าฉันทำนาตกกล้าไม่ได้แล้วกัน มีงานตลอด แสดงตรงนี้แล้วต้องไปแสดงต่อๆ ไป  ต้องเดินสายตลอด  ตอนลุงฉันเป็นเด็กหนังตะลุงเล่นทั่วไปหมด คนดูมีทั้งเด็ก หนุ่มสาว คนแก่ ดูหนังตะลุงกันหมดนั่นแหละ  ช่วงนั้นคนดูเต็มไปหมด  ไม่มีหนีเรา ถ้ามีลิเกก็ประชันกัน เกือบทุกงานมีหนังตะลุง  แถวห้วยแล้ง หนองยาง คลองขุด คนแถวนั้นถ้าหนังตะลุงเล่นแล้วไม่มีหนี   ถ้าหมดเวลาตี 12 (24.00 น.)แล้วจะเลิกไม่ได้ ประท้วง เอาบ่ายโมงๆ(01.00. )นะลุงนะ พอบ่ายโมงแล้วประท้วงเอาต่อ  จะเอาต่ออีกนะ    ชอบๆๆ  เขาไม่หนีกัน”.

 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี