ตัวหนังตะลุงจังหวัดตราดมีขนาดใกล้เคียงกับตัวหนังตะลุงภาคใต้  ตัวหนังตะลุงทำด้วยหนังสัตว์ เช่น  โค กระบือ เสือ ฯลฯ  ที่เสียชีวิต  ยกเว้นตัวฤๅษีต้องทำด้วยหนังเสือเท่านั้น  ในสมัยก่อนการสร้างตัวหนังตะลุงต้องให้ผู้ที่มีความรู้วรรณคดีและมีความสามารถทางศิลปะเป็นผู้วาดตัว หนังเป็นลายเส้นลงบนกระดาษ   แล้วนำกระดาษมาปิดทับบนหนังสัตว์ที่ตากแห้งอย่างดี  จากนั้นใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบโดยเฉพาะเจาะแผ่นหนังให้เป็นช่องหรือเป็นรูขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตามลวดลายของลายเส้นที่วาดไว้  ทาสีธรรมชาติ เช่น สีดำและสีทอง    นำไม้ไผ่ผ่าซีกคีบไว้เพื่อทำให้ตัวหนังคงรูป  ส่วนด้ามไม้ไผ่ผู้เชิดใช้จับเชิด ความสูงตัวหนังเฉลี่ย  120–150  เซนติเมตร  การสร้างตัวหนังให้สวยงามเป็นงานที่ยุ่งยากพอสมควรในสมัยนั้น เพราะต้องคนที่มีความรู้ทางวรรณคดีและมีความสามารถวาดภาพลายเส้นสวยงามซึ่งในจังหวัดตราดมีไม่มาก

 

ตัวหนังตะลุงจังหวัดตราด

 

เมื่อวิเคราะห์พบว่ากรรมวิธีการสร้างตัวหนังตะลุงจังหวัดตราดนั้นคล้ายกับภาคใต้  ดังข้อความจากหนังสือความรู้เรื่อง "หนังตะลุง" อนุสรณ์งานพระราชทางเพลิงศพ  อาจารย์พ่วง บุษรารัตน์ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔   ซึ่งกล่าวถึงขั้นตอนการสร้างตัวหนังตะลุงภาคใต้ ดังนี้
          การแกะรูปหนังสำหรับเชิดหนังให้เด่นทางรูปทรงและสีสัน เมื่อทาบกับจอผ้าแสงไฟช่วยให้เกิดเงาดูเด่นและสะดุดตา กรรมวิธีแกะรูปหนังแบบพื้นบ้านนำหนังวัวหนังควายมาฟอก ขูดให้เกลี้ยงเกลา หนังสัตว์ชนิดอื่นก็นิยมใช้บ้าง เช่น หนังเสือใช้แกะรูปฤๅษีประจำโรงเป็นเจ้าแผง
ในปัจจุบันรูปหนังแกะจากหนังวัวอย่างเดียว ซื้อหนังจากร้านค้าที่ฟอกสำเร็จรูปอยู่แล้ว ทั้งสามารถเลือกหนังหนาบางได้ตามความต้องการ นายช่างวางหนังลงบนพื้นเขียงที่มีขนาดใหญ่ ใช้เหล็กปลายแหลมวาดโครงร่างและรายละเอียดของรูปตามที่ต้องการลงบนผืนหนัง    ใช้แท่งเหล็กกลมปลายเป็นรูคมเรียกว่า"ตุ๊ดตู่"ตอกลายเป็นแนวตามที่ใช้เหล็กแหลมร่างไว้ ส่วนริมนอกหรือส่วนที่เป็นมุมเป็นเหลี่ยมและกนกลวดลายอันอ่อนช้อยต้องใช้มีดปลายแหลมคมยาวประมาณ 2 นิ้ว มีด้ามกลมรี พอจับถนัดมือขุดแกะ ทั้งตุ๊ดตู่และมีดขุดแกะมีหลายขนาด เมื่อทำลวดลายตามที่ร่างไว้เสร็จตัดออกจากแผ่นหนังเรียกว่ารูปหนัง  รูปใดนายช่างเห็นว่าได้สัดส่วนสวยงาม นายช่างจะเก็บไว้เป็นแม่แบบ เพียงแตะระบายสีให้แตกต่างกัน รูปที่นิยมเก็บไว้เป็นแบบ มีรูปเจ้าเมือง นางเมือง รูปยักษ์ รูปวานร รูปพระเอก รูปนางเอก นำรูปแม่แบบมาทาบหนัง แกะไปตามรูปแม่แบบ ประหยัดเวลาและได้รูปสวยงาม ผลิตได้รวดเร็ว สีที่ใช้ระบายรูปหรือลงสีนิยมใช้น้ำหมึก สีย้อมผ้า สีย้อมขนม มีสีแดง เหลือง แสด ชมพู ม่วง เขียว น้ำเงิน และสีดำ ต้องผสมสีหรือละลายสีให้เข้มข้น ใช้พู่กันขนาดต่างๆ จุ่มสีระบาย ต้องระบายเหมือนกันทั้ง 2 หน้า ระวังไม่ให้สีเปื้อนสีซึมเข้าในเนื้อของหนังเร็ว ลบออกไม่ได้
ช่างแกะรูปต้องมีความรู้ประวัติที่มาของรูป ศึกษาแบบของรูปจากรูปจริงและรูปภาพ การเปลี่ยนอิริยาบถของรูปได้อย่างถูกต้อง การเบิกตาเบิกปากรูปต้องใช้เวทมนต์ประกอบด้วย ที่สำคัญต้องมีสมาธิอย่างแน่วแน่ เศษหนังทำเป็นมือรูป ริมฝีปากล่าง อาวุธต่างๆ ใช้ร้อยมือให้ติดกันเป็น 3 ท่อน เพื่อให้มือเคลื่อนไหวได้
เมื่อสีแห้งสนิทแล้ว ลงน้ำมันยางใสเพื่อให้รูปเกิดเงาวาววับ  เดี๋ยวนี้หาน้ำมันยางไม่ได้  ใช้น้ำมันชักเงาแทน  จากนั้นติดไม้ตับ ติดไม้มือ รูปที่ชักปากได้ติดคันเบ็ดผูกเชือกชักปาก เป็นอันว่าเป็นรูปหนังที่สมบูรณ์ ช่างแกะรูปหนัง นอกจากแกะจำหน่ายแก่คณะหนังตะลุงแล้ว ยังแกะจำหน่ายทั่วไป เพื่อนำไปประดับประดา อาคารบ้านเรือน ชาวต่างชาตินิยมกันมาก แต่ต้องทำอย่างประณีต บรรจง จึงจะจำหน่ายได้ราคาดี ช่างแกะรูปหนังหาความร่ำรวยมิได้ เพียงแต่พอใช้

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี