ประมาณปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาเริ่มมีภาพยนตร์กลางแปลงฉายในจังหวัดตราดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เห็น ภาพเคลื่อนไหวเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงสร้างความตื่นเต้นและสมจริงให้กับคนดู ปริมาณคนดูหนังกลางแปลงมีมาก ความนิยมหนังตะลุงของคนจังหวัดตราดจึงลดลงมาก และเมื่อวิทยุและโทรทัศน์เข้าถึงแทบทุกครัวเรือน ความสนใจของคนจังหวัดตราดที่มีต่อหนังตะลุงแทบจะหมดสิ้นอย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ค้ำจุนการแสดงหนังตะลุง ของจังหวัดตราดไว้ไม่ให้สูญหายไปเหมือนจังหวัดอื่นๆ ก็คือธรรมเนียมการแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเหตุที่จังหวัดตราดมีพื้นที่ทำนากุ้งจำนวนมาก เจ้าของนากุ้งซึ่งอยู่ในสภาวะความเสี่ยงต่อการขาดทุน จะนิยมขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อว่าสถิตย์อยู่บริเวณใกล้นากุ้ง ที่นิยมเรียกว่า “เจ้าพ่อ” หรือ “เจ้าแม่” ให้ความช่วยเหลือ เช่น ขอช่วยให้กุ้งไม่ตาย ตัวโต ไม่เป็นโรค ให้ได้ปริมาณกุ้งตามต้องการ เป็นต้น โดยสัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าจะให้สิ่งตอบแทน  ซึ่งคนไทยทั่วไปเรียกวิธีการดังกล่าวนี้ว่า  “การบน” และเมื่อได้ตามที่ต้องการจะต้องให้สิ่งที่สัญญาไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเรียกว่า“การแก้บนจากคำบอกเล่าของนายหนังตะลุงอำไพ สายสังข์ และนายหนังตะลุงโสน นุดสมบัติ ให้ข้อมูลตรงกันว่า งานแสดงหนังตะลุงจังหวัดตราดในปัจจุบันเกือบทุกงาน เป็นงานแก้บนหรือไหว้เจ้า ส่วนงานลักษณะอื่นๆ  เช่น งานบุญ นานๆจะมีสักครั้ง เป็นเรื่องแปลกที่ชาวนากุ้งในบางพื้นที่ทราบว่าหากต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่นั้นช่วยเหลือ ต้องบนด้วยการแสดงหนังตะลุง

 

          นายหนังโสน นุดสมบัติ  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เจ้าพ่อเจ้าแม่แถวนี้ให้บนหนังตะลุงก็มีส่วน ฉันไป(เล่น)ที่นากุ้ง  ฉันถามเขา(ผู้ว่าจ้าง)ว่าทำไม่เอาจอใหญ่(ภาพยนตร์กลางแปลง)ละ  เจ้าของนากุ้งเขาว่าจอใหญ่เจ้าพ่อไม่ชอบ” “นากุ้งแปลกนะ ที่จะเป็นจอใหญ่น้อยมาก หนังตะลุงทั้งนั้น  เจ้าพ่อแถวนั้นคงชอบของเก่า ก็แปลกนะ   หนังตะลุงอยู่ได้เวลานี้เพราะอาศัยเจ้าพ่อนากุ้ง” 

 

          นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน  ให้ความเห็นกับข้าพเจ้าว่า  “สมัยก่อนหนังตะลุงเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก สอดแทรกศีลธรรมการปกครองศาสนา ต่อมาเจริญขึ้น  ภาคอื่นๆหนังตะลุงไม่ปรับตัวคนจึงไม่ชอบดู    ส่วนภาคใต้ปรับตัวเอาเรื่องจักรๆวงศ์เข้ามาเล่น  เรื่องแก้วหน้าม้าบ้าง เรื่องอื่นๆ บ้าง คนดูชอบ  ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนภาคใต้ไม่ชอบหนังตะลุงดูอีก  คราวนี้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่  มีนโยบายจอมพล ป. สมัยใหม่  ตอนนั้นหนังตะลุงใต้ปรับตัวมาก  นางเอกนุ่งกระโปรง   สวมหมวก พระเอกนุ่งกางเกง การปรับตัวนี้แหละทำให้หนังตะลุงใต้ยังคงได้รับความนิยม จนปัจจุบัน”

 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี