การแสดงเล่นเงาเป็นศิลปะการแสดงที่มีในหลายประเทศนับพันปี แต่ลักษณะการแสดงแตกต่างกัน ทั้งตัวหุ่น(รูปหนัง) วัสดุใช้ทำตัวหุ่น ลีลา การเชิด เครื่องดนตรี  พบหลักฐานเกี่ยวกับการแสดงเล่นเงาในอดีตหลายชนชาติ ดังนี้ (สุชาติ ทรัพย์สิน;  7-11)

 

 

       การแสดงหนังตะลุงในประเทศจีนเริ่มมีการแสดงเล่นเงาสมัยราชวงค์ฮั่นเฉพาะในราชสำนักและในงานฉลอง พระราชพิธีสำคัญ แล้วแพร่หลายไปยังประชาชนตามมณฑลต่างๆ ปัจจุบันนี้มีการแสดงที่เมืองซีอาน  ตัวหนังทำด้วยหนังวัวควาย ใช้ไม้ไผ่คีบบังคับตัวหนังเหมือนคนไทย เครื่องดนตรีเหมือนงิ้ว นิยมแสดงเรื่องสามก๊ก

 

       ประเทศอียิปต์มีการแสดงเล่นเงานับเป็นพันปีเพื่อฉลองเมื่อมีชัยชนะสงคราม  ครั้งแรกให้คนเชิดเต้นรอบกองไฟ ภายหลังจึงมีจอผ้าขาว ขนาดตัวหนังใกล้เคียงกับไทย  ตัวหนังทำด้วยกระดาษแข็งไม่ระบายสี  เพราะชาวอียิปต์เชื่อว่าการนำหนังสัตว์มาทำภาพจะมีบาป   แสดงเรื่องเกี่ยวกับการปกครองและชนชั้น

 

       ประเทศตุรกีมีการเล่นเงาเพื่อบูชาเทิดทูลอาณาจักรอ๊อตโตมัน ภายหลังเป็นมหรสพ ใช้หนังอูฐทำตัวภาพ นิยมเล่นเรื่องโจรสลัด ประเทศอินเดียมีการแสดงเล่นเงาครั้งแรกโดยพราหมณ์ฮินดูเพื่อบูชาพระเป็นเจ้า พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ใช้หนังแพะทำตัวหนัง ไม่ใช่หนังวัวหนังควายเพื่อเชื่อว่าเป็นพาหนะของเทพเจ้า ตัวหนังมีขนาดเท่าคนจริง แขนขาตัวหนังเคลื่อนไหวเหมือนคนจริง ใช้ไม่ไผ่คีบตัวหนังเหมือนของไทย แต่การแสดงเหมือนอียิปต์และตุรกี  ใช้เครื่องดนตรีประกอบเหมือนภาพยนต์อินเดีย เล่นเรื่องรามเกียรติ์

 

       เชื่อว่าประเทศไทยมีการแสดงหนัง(หนังใหญ่)ก่อนหนังตะลุง เพราะไทยรับอิทธิพลความเชื่อตามคำสอนของพราหมณ์มาเป็นเวลานานมาก ดังมีหลักฐานเรื่องรามเกียรติ์และการเคารพนับถือพระฤๅษีและเทพเจ้าต่างๆ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม เป็นต้น  ดังนั้นการแสดงหนังโบราณ(หนังใหญ่)จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น  ดังมีหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองให้เรียกตัวปราชญ์คนหนึ่งชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี  ปราชญ์ผู้นี้เชี่ยวชาญโหราศาสตร์และกวี ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี ทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาท่านได้รับคำสั่งให้ฟื้นฟูการเล่นหนัง(หนังใหญ่) อันเป็นการละเล่นที่เก่าแก่มาแต่เดิม   ดังปรากฏในสุนทรโฆษคำฉันท์ว่า

 

                              ไหว้เทพยดาอา-                     รักษ์ทั่วทิศาดร
                    ขอสวัสดิขอพร                                ลุแก่ใจดั่งใจหวัง
                              ทนายผู้คอยความ                   เร่งตามได้สิ่งเบื้องหลัง
                    จงเรื่องจำรัสทั้ง                               ทิศาภาคทุกพาย
                              จงแจ้งจ่าหลักภาพ                  อันยงยิ่งด้วยลดลาย
                    ให้เห็นแก่ทั้งหลาย                            ทวยจะดูจงดูดี

 

       คำว่า “หนัง” ในภาคกลางจึงหมายถึง หนังใหญ่ หนังตะลุงเข้ามาประเทศไทยเมื่อใดและที่ใด ข้อสันนิฐานแรก(เฉลียว ด้วงสิน; 2552)ในประเทศอินเดียมีพราหมณ์เรียกว่า“ฉายานาฏกะ”  เป็นพราหมณ์ทำหน้าที่แสดงหนังเรื่องมหากาพย์รามายนะ(รามเกียรติ์)เพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ  และใช้เป็นวิธีหรือเป็นช่องทางในการเผยแพร่คำสอนแก่ประชาชน พระฤๅษีจึงฝากให้พวกพราหมณ์ช่วยเผยแพร่ลัทธิไสยศาสตร์ด้วย  พราหมณ์กลุ่มนี้คงนำการแสดงหนังแพร่ไปที่ต่างๆ  รวมทั้งแพร่เข้าสู่แถบประเทศเอเชียอาคเนย์ พม่า ลาว เขมร ไทย ชวา มาเลเซีย ฯลฯ   พราหมณ์พวกนี้คงเข้ามาทางเกาะสุมาตรา แหลมมาลายู  เดินทางเข้าสู่ภาคใต้ของไทยที่บ้านควนมะพร้าว จังหวัดพัทลุงเป็นแห่งแรกและเปิดการแสดง    นายคง คนในพื้นที่ซึ่งเป็นนักแสดงพรานมโนราห์ มีความสนใจ จึงขอรับการถ่ายทอดการแสดง นายคงนำการแสดงหนังตะลุงแสดงไปยังที่ต่างๆ   คนทั่วไปจึงเรียกว่าหนังควนตามชื่อบ้านควนมะพร้าว    แต่มีบางคนเรียกว่าหนังพัทลุง ตามชื่อจังหวัด   ต่อมาหนังควนได้รับความนิยมและแพร่ขยายทั่วภาคใต้  ได้รับสมญาว่าหนังพิราบหน้าทอง  ซึ่งคำว่า“หน้าทอง”หมายถึงหน้ากากพรานที่นายคงสวมใส่ในการแสดงมโนราห์นั่นเอง   ตัวหนังช่วงนั้นคงเป็นแผ่นเดียวเคลื่อนไหวไม่ได้เหมือนปัจจุบัน ตัวหนังย่อเล็กกว่าหนังใหญ่    ยุคแรกคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนหนังใหญ่แต่เปลี่ยนบทพากษ์เป็นภาษาท้องถิ่น   เปลี่ยนเครื่องดนตรีจากพิณพาทย์ ตะโพน ไปเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมของภาคใต้    คาดว่าหนังควนจากภาคใต้เข้าไปแสดงในกรุงเทพในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยพระยาพัทลุง(เผือก)นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง  คนกรุงเทพจึงเรียก “หนังพัทลุง”      ต่อมาคงเพี้ยนเป็น“หนังตะลุง”และเรียกหนังที่มีอยู่เดิมว่า“หนังใหญ่”เพื่อไม่ซ้ำจนเกิดสับสน    ต่อมาหนังตะลุงของภาคใต้คงได้รับอิทธิพลจากหนังชวา วิวัฒนาการจากรูปหนังแผ่นเดียวทั้งตัวเคลื่อนไหวไม่ได้ให้สามารถเคลื่อนไหวได้  และมีการปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

      ข้อสันนิษฐานที่สอง(สุชาติ ทรัพย์สิน; 2552)เชื่อว่าการแสดงเล่นเงาของไทยน่าจะเริ่มในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย  เพราะเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรื่องมากและมีคนต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขาย พร้อมกับนำลัทธิของตนเข้ามาเผยแพร่ด้วย  ชาวอาหรับนำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่   ชาวจีนนำเสื้อผ้าแพรไหมมาค้าขายและสอนให้ทำไร่ทำนาด้วยวัวควาย  อินเดียนำศาสนาพราหมณ์ฮินดูและศาสนาพุทธเข้ามาเผยแพร่   ซึ่งช่วงนี้เองที่พราหมณ์กลุ่มหนึ่งจากอินเดียคงนำหนังตะลุงเข้ามาแสดงเพื่อบูชาเทพเจ้า พระอินทร์ พระนารายณ์ พระพรหม  หนังตะลุงจึงคงจะมีขึ้นในประเทศไทยแต่นั้นมา  ปรากฏหลักอ้างอิงว่าในโบราณหนังตะลุงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์  แม้ปัจจุบันจะแสดงเรื่องอื่นๆ แต่ในพิธีแก้บนยังต้องแสดงเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น    การแสดงทุกครั้งต้องเริ่มด้วยพระฤๅษี พระอิศวร พระอินทร์ ซึ่งเป็นตามลัทธิพราหมณ์ฮินดู   การแสดงหนังตะลุงโบราณของไทยใช้ผู้แสดงหลายคนคล้ายของอินเดีย  สิ่งหนึ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้คือลัทธิพราหมณ์เจริญมากในบริเวณที่เป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบัน

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี