เวทีแสดงซึ่งคนจังหวัดตราดเรียกว่า“โรงหนังตะลุง” เป็นโรงเรือนพื้นสูงประมาณ 2 เมตร  ด้านหน้ายาว 4 เมตร ด้านข้างยาว 3 เมตร มีหลังคา  ด้านหน้าติดด้วยผ้าขาวซึ่งเรียกว่า“จอหนังตะลุง”  ด้านข้างและด้านหลังปิดด้วยผ้าสีใดก็ได้    สำหรับแสงที่ใช้ทำให้เกิดเงาขณะแสดงนั้นสมัยโบราณใช้ตะเกียง  ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุมีแผ่นโลหะบังด้านหลังเพื่อให้แสงส่องไปเฉพาะด้านหน้าเวที    ด้านหน้าและด้านข้างเวทีทั้งสองด้านมีต้นกล้วยขนาดใหญ่เพื่อใช้ปักตัวหนังตะลุง

 

( 1 ) ( 2 )
( 3 ) ( 4 )

 

       สำหรับโรงหนังตะลุงภาคใต้นั้น นิยมสร้างโรงหนังตะลุงยกเสา 4 เสา(ใช้ไม้ค้ำเพิ่มได้)   ขนาดโรงประมาณ 2.3 X 3 เมตร พื้นยกสูงเลยศีรษะผู้ใหญ่เล็กน้อย และให้ลาดต่ำไปข้างหน้านิดหน่อย หลังคาเป็นแบบเพิงหมาแหงน กั้นด้านข้างและด้านหลังอย่างหยาบๆ ด้านหลังทำช่องประตูพาดบันไดขึ้นโรง ด้านหน้าใช้ผ้าขาวบางขึงเป็นจอ จอกว้างและยาวประมาณ 5 x 10 ฟุต ในโรงมีตะเกียงน้ำมันไขสัตว์หรือน้ำมันมะพร้าว  ตะเกียงเจ้าพายุ หรือดวงไฟแขวนไว้ใกล้จอ สูงจากพื้นราว 1 ฟุตเศษและห่างจากจอราว 1 ศอก นอกจากนี้ยังมีต้นกล้วยวางไว้ข้างฝาทั้งสองข้างของโรงเพื่อไว้ปักพักรูปหนังประเภทรูปเบ็ดเตล็ด ส่วนบนเพดานโรงจะมีเชือกขึงไว้สำหรับแขวนรูปหนังประเภทรูปที่สำคัญซึ่งมีรูปพระรูปนางเป็นต้น  สำหรับจอหนังทำด้วยผ้าขาวรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1.8 x 2.3 เมตรทั้ง 4 ด้าน  เย็บขอบด้วยผ้าสีแดงหรือสีน้ำเงินขนาดกว้าง 4-5 นิ้ว  มีห่วงผ้าเรียกว่า “หูราม” เย็บไว้เป็นระยะโดยรอบ  หูรามแต่ละอันจะผูกเชือกยาวประมาณ 2 ฟุต 5 นิ้ว  เรียกว่า “หนวดราม” สำหรับผูกขึง  จากริมขอบบนลงมาประมาณ 1 ฟุตจะตีตะเข็บนัยว่าเป็นเส้นแบ่งแดนมนุษย์  มีเฉพาะรูปฤาษีเทวดาและรูปที่มีฤทธานุภาพเท่านั้นที่เชิดเลยเส้นนี้ได้

 

ความเชื่อในการสร้างโรงหนังตะลุงจังหวัดตราด

      จากการสัมภาษณ์นายหลังตะลุงจังหวัดตราดทั้ง 3 คน ได้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า การสร้างโรงหนังตะลุงจังหวัดตราดมีข้อห้ามและความเชื่อบางอย่างเท่านั้นที่ครูอาจารย์กำชับ คือ ห้ามสร้างโรงหนังตะลุงใต้ต้นไม้ใหญ่  ห้ามสร้างโรงหนังตะลุงทับเส้นทางเดินทางของคนและทางน้ำไหล

สำหรับความเชื่อการสร้างโรงหนังตะลุงภาคใต้ มีดังนี้(สุชาติ ทรัพย์สิน, 2552; เฉลียว ด้วงสิน, 2552)

  1. ห้ามสร้างโรงแสดงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เชื่อกันว่าหนังตะลุงคณะใดแสดงหันหน้าโรงไปทางทิศตะวันตกจะไม่มีความเจริญ ชื่อเสียงจะตกต่ำ เหมือนดวงอาทิตย์ลับฟ้ามีแต่ความมืด
  2. ห้ามสร้างโรงแสดงใต้ต้นไม้ใหญ่ทุกต้น เพราะตามลัทธิของพราหมณ์มีความเชื่อกันว่าเทวดาและเทพารักษ์อยู่อาศัย การสร้างโรงหนังตะลุงใต้ต้นไม้ใหญ่เป็นการรบกวน
  3. ห้ามสร้างโรงหนังตะลุงคร่อมทางเดินและทางน้ำไหล เพราะมีความเชื่อว่าทางเดินก็ดี ทางสายน้ำไหลก็ดี เวลากลางคืนจะมีพวกผีเดิน จึงเป็นการขัดขวางทางเดินของพวกผี
  4. ห้ามหนังตะลุงแสดงแก้บนวันขึ้นแรม 8 ค่ำ แรม14 ค่ำ  และแรม15 ค่ำ(วันพระ)  หนังตะลุงคณะใดแสดงแก้บนวันที่กล่าวมานี้มีความเชื่อกันว่าแก้บนไม่ขาด เพราะวันดังกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปถือศีล ไม่มารับเครื่องสังเวยหรือเครื่องแก้บน
  5. โรงหนังตะลุงที่ดีเหมาะสมกับการแสดง ต้องหันหน้าโรงไปทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ เพราะการแสดงหนังตะลุงของภาคใต้นั้นเป็นช่วงเวลาห่างจากการประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ไม่มีฝน ลมจะพัดมาทางทิศเหนือหรือทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกหรือทิศใต้ เสียงที่ดังออกจากโรงหนังจะดังตามกระแสลมไปไกล ทำให้ผู้ฟังหน้าโรงฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าประชันกัน 2 หรือ 3 คณะ  ถ้าโรงหนังตะลุงคณะใดตั้งโรงทางทิศเหนือจะได้เปรียบโรงหนังตะลุงที่ตั้งทิศใต้ เพราะลมจะช่วยพาเสียงไปรบกวนโรงหนังตะลุงที่ตั้งทิศใต้
จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี