หนังตะลุงจังหวัดตราดทุกคณะจะมีทำนองร้องคล้ายคลึงกัน 2-3 รูปแบบ ส่วนเนื้อร้องนั้นถ้าเรื่องแสดงเป็นเรื่อง ประเภทวรรณกรรมหรือวรรณคดีที่มีผู้แต่งไว้แล้ว เช่น นางสิบสอง แก้วหน้าม้า รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี ฯลฯ และเป็นประเภทกลอนนายหนังจะท่องจำบทกลอนนั้น แล้วนำมาใช้เป็นบทร้อง(ส่วนใหญ่ผิดเพี้ยนจากคำประพันธ์ต้นฉบับ)สลับกับแต่งคำร้องด้วยตนเอง แต่ถ้าไม่เป็นกลอนหรือเป็นเรื่องที่แต่งเองนายหนังจะ จดจำโครงเรื่องไว้และใช้ประสบการณ์และปฏิภาณของตนแต่งคำร้องในขณะแสดงทันที ซึ่งเรียกว่า “การด้นกลอนสด” หรือ “การร้องด้น”

 

       นายหนังโสน นุดสมบัติ   กล่าวว่า “อ่านหนังสือรามเกียรติ์แล้วคัดเลือกว่าจะเอาตอนไหนไปเล่นแต่ละคืน คัดตอนที่สนุกๆ จำโครงเรื่องไว้ แล้วร้องด้นไปเลย หรือถ้าเราสมองดีมีปัญญาจำเก่งจำได้ก็จำกลอนเอามาร้องมาพูดว่าตามนั้นได้เลย    คนเล่นหนังตะลุงต้องร้องด้นให้ได้  ถ้าร้องด้นไม่ได้ก็เล่นดีได้ยาก  คนที่เพิ่งฝึกอาจต้องท่องบ้าง  เรื่องเดียวกันเล่นคนละคืนร้องคนละอย่างเลย”   

 

       นายหนังอำไพ  สายสังข์  กล่าวว่า “กลอนที่ใช้ร้องใช้ทั้งกลอน 8 กลอน 4 โดยเฉพาะกลอนของสุนทรภู่เรื่องพระอภัยมณีจับมาร้องได้หมดโดยไม่ต้องดัดแปลง  การร้องต้องได้สำเนียง จังหวะ ร้องแบบตัวต่อตัวคล้ายลิเก    ต้องออกท่าทางของตัวหนังตะลุงให้สอดคล้องกับบทร้อง ครูอาจให้ลูกศิษย์เอากลอนไปฝึกร้องที่บ้านแล้วกลับมาร้องให้ฟัง    ฝึกกันที่บ้านครูจนกระทั่งทำได้  ปกติหัดเป็นเดือน ต้องมาทุกวัน ต้องใจรัก ขยันมาฝึก จึงเริ่มเอาไปออกงานได้”

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี