บทสรุปการสัมภาษณ์นาย(หนัง) อำไพ สายสังข์
สัมภาษณ์เมื่อเดือนกรกฏาคม 2550  
สถานที่บ้านของนายอำไพ สายสังข์  ตำบลท่าโสม  อำเภอเขาสมิง  จังหวัดตราด

 


นายหนังอำไพ  สายสังข์ 

 

(เนื่องจากสำเนียงภาษาของนายอำไพ สายสังข์ เป็นภาษาถิ่นจังหวัดตราด   ซึ่งจะตัดคำและมีเสียงสูงต่ำเมื่อจบประโยค  ผู้รวบรวมจึงได้เพิ่มเติมคำและแก้ไขประโยคให้อ่านเข้าใจ  โดยคงใจความสำคัญของประโยคไว้เหมือนเดิม)

 

ถาม    หนังตะลุงตราด มีความเป็นมาอย่างไร
ตอบ  เท่าที่ผมจำได้และจากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์เก่าๆ  หนังตะลุงจังหวัดตราดไม่ได้มาจากภาคใต้  เพราะสมัยโบราณภาคใต้และภาคตะวันออกถือว่าห่างไกลกันมาก  การเดินทางลำบากและหลายวัน แต่คงเกิดมาในสมัยรัชกาลที่ 1  หรืออาจจะเป็นได้ที่มีคนจากภาคตะวันออกเดินทางไปภาคกลาง  แล้วไปเห็นการละเล่นหนังตะลุงของภาคกลาง  จึงจดจำนำมาสร้างตัวหนังและแสดงที่จังหวัดตราดก็เป็นไปได้   แต่การที่จะเดินทางไปภาคใต้แล้วนำมาคงเป็นไปได้ยาก  เพราะคนที่จะแสดงและจดจำจนนำมาแสดงในภาควันออกได้นั้นต้องเป็นคนที่มีความคิด  มีความสามารถใจรักจึงจะจดจำและสร้างตัวหนังตะลุงได้  คนที่ไม่มีใจรักคงเป็นไปได้ยาก  จากคำบอกเล่าของครูอาจารย์ คนที่เอาหนังตะลุงมาแสดงภาคตะวันออกคนแรกเป็นครูสอนหนังสือ  แกปรุตัวหนังเอง เล่นเอง รุ่นอาจารย์เล่ามาอย่างนี้  เอามาจากใต้คงยากเพราะตอนนั้นไม่มีทีวีออก  ไม่เคยเห็นกัน 
          สาเหตุที่ทำให้คนสมัยก่อนคิดการละเล่นหนังตะลุงก็คงเพราะ  สมัยก่อนนั้นลิเกเป็นมโหรสพท้องถิ่นชนิดเดียว  ส่วนละครก็เป็นการแสดงอะไรที่ใหญ่และยุ่งยากหาคนแสดงยาก  แต่หนังตะลุงใช้คนเล่นไม่มาก ทำกี่ตัวก็เล่นได้ เพียง 2-3 คนก็เล่นได้   สมัยก่อนบ้านไหนมีงานมีหนังตะลุงแสดงว่ามีสตางค์  เท่าที่ผมจำได้จ้างคืนละ 20 บาท ซึ่งสมัยนั้นทองราคาไม่ถึง 200 บาท     ตอนฉันเป็นเด็กๆ สมัยนั้นหนังตะลุงที่เล่นในจังหวัดตราดมีมาก  แต่ละตำบลจะมีคณะหนังตะลุงไม่น้อยกว่า 1 โรง(คณะ) มีกันทั่วไปหมด  อาจเป็นเพราะสมัยก่อนแต่ละตำบลไกลกันมาก   ใครมีความรู้วาดได้ปรุได้ก็มีหนังตะลุง  ตัวหนังจะปรุตามเรื่องรามเกียรติ์ ครูบาอาจารย์สมัยนั้นคงปรุตัวหนังขึ้นมาเอง  

 

ถาม  หนังตะลุงนับถือครูอย่างไร
ตอบ   ทุกครั้งที่ผมแสดงเมื่อกางจอ วางตัวหนัง  ผมจะนึกถึงครูพ่วง ครูปู้ ครูเปี๊ยก ครูเอียด ครูใหญ่   ครูชิด ครูเฉื่อย  แต่ละคนที่กล่าวมาเป็นครูแต่ละรุ่นสืบทอดกันมาจนถึงผม  ครูทุกคนเราต้องระลึกถึงเมื่อจะแสดงเสมอ ครูปู้ ครูเปี๊ยก ครูเอียด และครูใหญ่ ผมไม่เคยเห็น ผมไม่ทัน    ครูชิดผมเคยเห็นแกเล่นตอนผมเป็นเด็ก แต่ไม่ได้หัดหนังกับเขา ผมมาหัดหนังกับครูเฉื่อยซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูชิด  พอครูชิดตายประมาณปี พ.ศ. 2495-2496   ครูเฉื่อยไม่มีเพื่อนจึงชวนผมไปเล่นด้วย       ครูเฉื่อยแกเห็นพรสวรรค์ของผมหลายๆ อย่าง

 

 

ถาม  การฝึกหัดหนังตะลุง  ทำกันอย่างไร 
ตอบ  คนที่เล่นหนังตะลุงได้ต้องฉลาดมีไหวพริบ รู้ราชาศัพท์ เช่น ไปเที่ยวลงนาวาถ้าลงกลอนลา ก็ลงกลอนลาตลอด  ไหวพริบปฏิภาณด้านภาษาต้องดี  เพราะเป็นพื้นฐาน 
          ก่อนอื่นหัดตีโทนก่อน โดยสอนที่บ้านครู ตั้งเวทีซ้อมกันเป็นเดือน  ตีกลองโทนให้ได้จังหวะ  จากนั้นหัดร้องและเต้นด้วยพร้อมกัน ฝึกจับหนังเต้นให้ได้  สำหรับผมฝึก 3 วันทำได้  
          กลอนที่ใช้ร้องใช้ได้ทั้งกลอน 8 กลอน 4    โดยเฉพาะกลอนของสุนทรภู่เรื่องพระอภัยมณีจับมาร้องได้หมดเลยโดยไม่ต้องแปลง     การร้องต้องได้สำเนียง จังหวะ ร้องแบบตัวต่อตัว คล้ายลิเก  ออกท่าทางของตัวหนังตะลุงให้สอดคล้องกับบทร้อง    ครูอาจให้ลูกศิษย์เอากลอนไปฝึกร้องบ้านแล้วกลับมาร้องมาเต้นให้ฟัง   ฝึกกันที่บ้านครูจนกระทั่งทำได้  ปกติหัดเป็นเดือน ต้องมาทุกวัน ขยันทำการบ้าน ต้องใจรัก ขยันมาฝึก จึงเริ่มเอาไปออกงานได้
           สำหรับผม ครูเฉื่อยเป็นนายหนังและอาจารย์สอนโรงเรียน  ผมแต่งงานแล้ว มีงานวัด ผมชอบแสดงออก ผมชอบขึ้นร้องเพลง   ผมเล่นกลองยาวก่อนกับอาจารย์จ่าง  เป็นหัวหน้าวงด้วย   อาจารย์เฉื่อยมองเห็นพรสวรรค์ของผม ให้คนมาติดต่อว่า“จะตั้งวงหนังตะลุงจะเอาใหม่”   ผมดีใจมากเพราะใฝ่ฝันมานาน อาจารย์ให้ตีโทน 12 เพลง ผมก็ตีได้   ให้ตีกลองตุ๊กผมก็ตีได้   เท่านั้น  อาจารย์เฉื่อยให้ไปพากษ์หนังเลย  ตอนนั้นหัดหลายคนประมาณ 10 คน  มีทั้งหัดกลองยาว  หัดเครื่องสาย ทำไปทำมาเหลือผมคนเดียว คนที่ครูเฉื่อยหามารับ(ฝึก)ไม่ได้เลย ผมเล่นได้ 7-8 ปี แกก็เสีย พร้อมฝากตัวหนังให้ดูแล ช่วยกันอนุรักษ์

 

 

ถาม  หนังตะลุงมีข้อบังคับ หรือธรรมเนียมอะไรบ้าง
ตอบ  ข้อปฏิบัติและข้อบังคับในการเล่นหนังตะลุงของแต่ละคณะจะแตกต่างกัน  บางคณะกินเหล้าขณะเล่นได้  บางคณะห้ามกินเหล้าขณะเล่น   ตอนไม่เมาก็ร้องดี พอเมาก็เละ  เอาหนังออกมารบกันอย่างเดียว ตีกันอย่างเดียว  สำหรับคณะของผมไหว้ครูแล้วกินเหล้าได้  แต่ต้องเอาเหล้าไปกินกันที่อื่น  อย่าเอามาตั้งกินคณะเล่นบนเวที  ผมห้าม ผมเห็นคนไหนไม่ดีก็เอาออก  เลือกเอาคนดีๆ คนรับผิดชอบไม่กินเหล้าเมายา   บางคณะกินเหล้าจึงเล่นได้ ไม่กินเหล้าเล่นไม่ออก  แต่ผมไม่เอาแบบนั้น   ให้เล่นออกมาจากใจจริง  สำหรับผู้หญิงถ้าจะเล่นหนังตะลุงก็เล่นได้ผมไม่ห้ามผมให้โอกาส  แต่ปัญหาคือไม่มีผู้หญิงมาเล่น   ถ้าบทร้องบทเล่นตรงไหนมีตัวนางหรือผู้หญิง ผมจะให้พูดร้องเป็นเสียงชายเลย  ไม่ดัดเสียงเป็นผู้หญิงเหมือนบางคณะ  ก่อนเล่นเรื่องผมจะร้องเป็นกลอนบอกคนดูว่า 

 

หนังตะลุงโรงนี้ไม่มีผู้หญิง           จะฟังเสียงจริงๆ คงไม่ได้
ให้จินตนาการว่าเรานี้ไม่ใช่ชาย     เป็นหญิงได้ชายได้จินตนาเอง

 

ถาม  ผู้แสดง(เชิด)หนังตะลุงตราด มีกี่คน 
ตอบ  คนเล่นมีตัวหลัก(ผู้เชิดหลัก) 1 คน และผู้ช่วยอีก 1 คน   เล่นคนเดียวก็ได้แต่มันเหนื่อย ปกติตัวหลักจะเชิดทั้งเรื่อง บางคณะตัวหลักเชิดคนเดียวร้องคนเดียว ผู้ช่วยจะค้นหาและส่งตัวหนังที่จะเชิดในอันดับต่อไปให้ตัวหลัก  แต่บางคณะทั้งตัวหลักและผู้ช่วยจะช่วยกันเล่น เชิดด้วยกัน ร้องโต้ตอบกัน 

 

ถาม  เครื่องดนตรีประกอบการแสดงหนังตะลุง มีอะไรบ้าง
ตอบ  ประกอบด้วย โทน 2 ใบ (ใช้คนตี 2 คนๆ ละใบ ) กลองตุ๊ก 1 ใบ (ใช้คนตี 1 คน)  ตีฉิ่ง 1 คน    ซอด้วง 1 คน   อาจมีขลุย 1 เลา (คนเป่า 1 คน )   

 

ถาม  การไหว้ครูก่อนแสดง  ทำอย่างไร
ตอบ  สิ่งของใช้ทำพิธี(เครื่องกำนล)ประกอบด้วย เหล้า 1 ขวด    บุหรี่ 3 ม้วน  หมาก  3 คำ   ดอกไม้ 3 ดอก  เทียน 2 เล่ม (ใช้ทำน้ำมนต์ 1 เล่ม  และใช้จุดไหว้ครู 1 เล่ม)  ธูป 9 ดอก  และ เงิน 12  บาท  สิ่งของทั้งหมดยกเว้นเหล้าใส่พาน วางหน้าตัวหนังตะลุง  จากนั้นจุดธูปเทียน  กล่าวคำไหว้ครูดังนี้ 
          “(กล่าวนะโม 3 จบ )  พุทธัง อาราทนานัง ธัมมังอาราทนานัง สังฆังอาราทนานัง  ข้าพเจ้าขออาราทนาครูบาอาจารย์ ครูพักลักจำ ครูแนะ ครูนำ ครูสั่ง ครูสอน ครูเทพกุญชร ครูมหาละลวย  ครู (กล่าวชื่อครูตามลำดับ) ขอจงมารับเครื่องกำนลที่ข้าพเจ้าได้ตั้งไว้ให้อิ่มหนำสำราญ   จากนั้นปล่อยไว้สักครู่ (ให้ครูรับประทาน)”


          กล่าวคำลา ดังนี้  “ครูบาอาจารย์ทุกท่านกินอิ่มหนำสำราญ เหลือเป็นทานให้ลูกหลายกินเถอะ  ลูกหลานจะเล่นเพลงใดก็ขอให้คล่องสมใจปองปรารถนา  ประสิทธิ เม”  
เสร็จพิธีสมาชิกของคณะทั้งผู้เชิดและนักดนตรีจะนิยมนำบุหรี่ หมาก และเหล้า    ไปรับประทาน  เพื่อนความเป็นสิริมงคลต่อการแสดง 

 

ถาม   การแสดงชุดแรก(การเล่นเปิดโรง) เป็นอย่างไร
ตอบ   เป็นธรรมเนียมหรือเป็นกฎการแสดงของหนังตะลุงจังหวัดตราดทุกคณะ  ต้องเริ่มด้วยการแสดงบังคับซึ่งเรียกกันว่าการแสดง“เปิดโรง”  โดยนำตัวหนังฤาษีปักไว้กลางจอ ปักตัวหนังพระรามหรือพระนารายณ์ด้านซ้ายของตัวหนังฤาษี(ขวามือของผู้ชม)  ปักตัวหนังยักษ์จตุรพักตร์ด้านขวาของตัวหนังฤาษี(ซ้ายมือของผู้ชม) จากนั้นผู้เชิดหลักร้องบทชมนุมเทวดา (บทสวดชุมนุมเทวดา)จนจบ   

 

ถาม  มีวิธีบอกคนดูอย่างไรว่า คืนนี้จะแสดงเรื่องอะไร 
ตอบ  เพื่อสื่อสารกับผู้ชมเกี่ยวกับเรื่องที่จะแสดง  ผู้เชิดจะนำตัวหนังเสนา 2-3 ตัว  ออกมาเชิดเจรจาบอกผู้ชมว่า  การแสดงวันนี้มีความเป็นมาอย่างไร  เรื่องที่จะแสดงต่อไป  จะเล่นเรื่องอะไร

 

ถาม  หนังตะลุงนิยมแสดงในงานอะไรบ้าง
ตอบ  ประชาชนในจังหวัดตราดนิยมนำหนังตะลุงไปแสดงในงานต่างๆเกือบทุกงาน เช่น เผาศพแก้บน  ไหว้เจ้า งานบุญประจำปี ขึ้นบ้านใหม่ แต่จะไม่แสดงในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน  เพราะเนื่องจากธรรมเนียมการแสดงหนังตะลุง ซึ่งจะเริ่มด้วยนำตัวหนังพระรามและตัวหนังยักษ์รบกันก่อนทุกครั้ง   จึงไม่เหมาะกับแต่งานแต่งงาน   

 

ถาม  สมัยก่อน คนตราดนิยมดูหนังตะลุงมากเพียงใด
ตอบ   สมัยก่อนมหรสพมีไม่กี่ชนิด  มีเฉพาะลิเกและหนังตะลุงเท่านั้นที่นิยมกันมาก  โดยเฉพาะหนังตะลุง  คณะลิเกต้องมีกันหลายคน เล่นตามเรื่อง พลิกแพลงเรื่องที่แสดงได้ไม่มาก  แตกต่างจากหนังตะลุงที่ใช้ผู้เล่นและนักดนตรีน้อยกว่า พลิกแพลงเรื่องได้ง่าย สมัยก่อนมีการเลี้ยงควายกันมาก  เราเล่นหนังตะลุงก็ต้องมีเรื่องควาย พี่มีควายน้องมีควาย  เอามาเจอกัน  จับคนถิ่นนั้น  เหตุการณ์ในท้องถิ่นนั้นมาผสมด้วย คนดูชอบ  บางแห่งคนดูเป็นร้อยคน  ทั้งงานบวชนาค  งานราชการ  งานเมือง  งานประจำปี งานขึ้นบ้านใหม่ เกือบทุกงานมีหนังตะลุง  ยกว้นงานแต่งงานเท่านั้นที่ไม่มีหนังตะลุง
          หนังตะลุงจะแสดงไม่เกิน 24.00 น  สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องขยายเสียง ร้องกันคอโก่ง  คนดูข้างล่างก็เย้วๆ กัน ยิ่งคนมากยิ่งสนุก เล่นกันสดๆ  แสงเงาใช้จากตะเกียงเข้าพายุ
          บางครั้งมีการประชันกัน  ปลูกโรงหันหลังชนกัน  ต่างคนต่างเล่น (ต่างคณะต่างเล่น) ใครมีคนดูมากกว่าก็ชนะ  ส่วนผมไม่ชอบประชัน มาช่วยกันเล่นดีกว่า รวมกันดีกว่า
          เรื่องที่เล่นแล้วแต่สถานที่ บางครั้งเรื่องสองแง่สามง่ามบ้าง(เรื่องกึ่งทางเพศ) แต่อย่างไรก็ไม่หยาบมากมาย  เช่นเล่าเป็นนิทานแล้วให้คิดกันเอง  เล่นกันค่อนข้างเรียบง่าย ไม่หยาบโลน
         นายหนังอำไพ สายสังข์  แสดงหนังสือวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี  ซึ่งใช้เป็นโครงสร้างการแสดงหนังตะลุง

 

ถาม  หนังตะลุงมีอิทธิพลต่อสังคมคนตราดในสมัยก่อน เพียงใด
ตอบ  คาดว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสมัยก่อน  เพราะโบราณนายหนังจะสอดแทรกค่านิยม  การทำความดี ความชั่ว ลด ละ เลิก  ถ้านายหนังทำตัวไม่ดีประพฤติตัวไม่ดี  คนจะไม่ค่อยนิยม ไม่จ้างไปแสดง เช่น งานศพกำนันเหลื่อม หนังคณะนั้นเล่นกัน พอผมไปคนลุ้นขึ้นเวทีให้ไปช่วยเขา  เราก็ช่วยกันไม่แบ่งแยก
          โบราณคณะหนังตะลุงที่ดัง(คนนิยมมาก)ขึ้นกับนายหนัง  คือ  ความสามารถในการแสดงหนังและความประพฤติตน สมัยก่อนมีพระสอนเทศก์ และยังมีหนังตะลุงให้ค่านิยม ความดี ความงามทางอ้อมทางการแสดง  หนังตะลุงตราดมีส่วนทางอ้อมอย่างมาก เช่น เรื่อรามเกียรติ์ตอนศึกกุมกรรณ์   หรือเรื่องศึกษาทรพีพาลีสอนน้อง เราก็แทรกข้อคิด ความดี ไม่ดีเข้าไป  
          สมัยก่อนถ้าทางการ(ราชการ)ต้องการประชาสัมพันธ์  ก็ใช้นายหนังช่วยประชาสัมพันธ์ให้   ครูบาอาจารย์ก็เคยบอก  ทางการเขาบอกให้ร้องสอดแทรก  เช่น สมัยก่อนมีการต่อต้านต่างชาติ ช่วงฝรั่งเศสยึด  ผมยังเล็ก หนังตะลุงมีส่วนในการต่อต้าน  เล่นที่ไหนก็ให้ต่อต้านพวกมาแบ่งประเทศไทย  ย่ำยีประเทศไทย  ช่วงฝรั่งเศสปกครองก็ยังเล่นได้แต่เล่นตามบ้านเรือนในหมู่บ้าน  อิทธิพลฝรั่งเศสจากแหลมสิงห์แผ่มาไม่ถึง  มีงานอะไรผู้ใหญ่ให้ช่วยสอดแทรกด้วย เล่นงานวัดหลวงพ่อให้ช่วยแทรกงานบุญ  สมัยนี้ก็ยังมี ให้ช่วยสอดแทรกการเลือกตั้ง  โรคเอดส์ 
          ก่อนจะเลิกแสดง  จะร้องให้เจ้าภาพ ขอบคุณอวยพรให้เจ้าภาพ

 

 

ถาม   สาเหตุใดความนิยมจึงลดลง
ตอบ   ต่อมามีความเจริญเข้ามา มีดนตรี ทีวี หนังกลางแปลงเข้ามา คนเริ่มเสื่อมความนิยมในหนังตะลุงลง เป็นไปตามยุคสมัย ตอนนี้คนที่ยังชอบดูหนังตะลุงส่วนมากอายุมากกว่า 30 ปี  ส่วนมากจะดูแบบผ่านๆ ดูตอนร้อง  แล้วก็เดินผ่านไปดูลิเก แล้วแวะมาดูใหม่ เขาเห็นเป็นของโบราณ ต้องอนุรักษ์
การแสดงปัจจุบันจากมาจากงานหลายๆ ประเภท เช่น การบนบาน  ถ้าได้ก็แก้บน คณะที่เล่นดี คนที่มีหัวคิด เห็นว่าเล่นดี สอนดี ได้ยินแล้วก็เห็นว่าสอนดี  บางครั้งก็หาไปดูเพราะตอนเด็กๆ เคยดู  ทำบุญพ่อตาย หามาให้พ่อดู บรรพบุรุษดู  งานบุญทั่วไปยังนิยม  เช่น งานประจำปี  ตักบาตรเทโว  งานบุญ 

 

ถาม  การผิดครู คืออะไร  และเคยประสบด้วยตนเองบ้างหรือไม่
ตอบ  เขาบอกว่าครูหนังตะลุงแรง แต่ผมไม่เจอ แต่มีครั้งหนึ่งซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นการผิดครูหรือไม่  คือในการแสดงครั้งหนึ่ง  เมื่อตั้งเวทีเสร็จและรอเครื่องไหว้ครูจากเจ้าภาพ  แต่เจ้าภาพยังไม่มาหา ผมจึงหาเครื่องกำนลเอง  ลูกสาวคนที่จ้างเอาเหล้ามาให้อีกขวด เป็นเหล้าทำเอง แต่ใส่ขวดแปลกๆ   ผมก็บอกว่าเหล้านี้ไม่ใช่รัฐบาล กลั่นเองคงอร่อยนะ เปิดฝาดื่มกินกัน 5 คนก่อน กินเหล้าก่อนไหว้ครู   ลืมคิดถึง พอเริ่มแสดงผมร้องๆ เสียงไม่ออก ไม่รู้เป็นไง เสียงหายพูดไม่มีเสียง นึกได้จุดธูปบอกครูอาจารย์ เสียงกลับมา ผมเชื่อว่าไสยศาสตร์ไม่มี คิดว่าไม่ใช่ ผมไม่นับถือ  ผมไปเล่นฉลองร่างทรง(งานไหว้ครูของคนทรงเจ้า)  ผมไม่เชื่อแต่ไปเล่นเอาตังค์ เขามาหาก็ไปเล่นแต่ไม่เชื่อ ไม่นับถือ แต่ไม่ลบหลู่

 

ถาม  การเก็บรักษาตัวหนังตะลุง  ทำอย่างไร
ตอบ  โบราณใช้ไม้ไผ่สาน ขนาดสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 3 เมตร  ยาวประมาณ 4 เมตร  จำนวนสองชิ้นประกบเอาไว้  เอาตัวหนังไว้ระหว่างแผ่น เพื่อไม่ให้ตัวหนัง บิดงอ  แต่มีข้อเสียมาก  เพราะไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย

 

จบการสัมภาษณ์

 

จัดทำโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฉลองชัย ธีวสุทรสกุล
โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี